Thursday 26 March 2009

ผลกระทบจาการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช

เนื่องจาการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชโดยใช้หรือไม่ใช้ดินก็ตามจะมีผลกระทบต่อผู้ใช้คือเกษตรกร ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม

การจำแนกชนิดของสารแคมี สารแคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ใช้ในปัจจุบันมีมากกว่า 100 ชนิดซึ่งสามารถจำแนกออกได้หลาย รูปแบบเช่น

การจำแนกชนิดของสารเคมีตามชนิดของศัตรูพืช คือ 1) สารป้องกันกำจัดแมลง (Insecticide) 2) สารป้องกันกำจัดวัชพืช (Herbicide) 3) สารป้องกันกำจัดโรคพืช (Fungicide) 4) สารป้องกันกำจัดไร (Accaricide) 5) สารป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอย (Nematicide) 6) สารป้องกันกำจัดหนู (Rodenticide)

ซึ่งพืชผักเป็นกลุ่มที่มีการใช้สารป้องกันกำจัดแมลง (Insecticide) มากที่สุด ดังนั้นจึงจะกล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้สารเคมีในกลุ่มนี้เป็นหลัก

การจำแนกชนิดของสารเคมีตามลักษณะการเข้าทำลายศัตรูพืช คือ

1)ประเภทกินตาย (Stomach Poison) 2) ประเภทถูกตัวตาย (Contact Poison)

3) ประเภทดูดซึม (Systemic) 4) ประเภทรมควัน (Fumigant)

การจำแนกสารป้องกันกำจัดแมลง (Insecticides) ปัจจุบันมีการจำแนกสารป้องกันกำจัดแมลงออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มออร์กาโนคลอรีน กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต กลุ่มคาร์บาเมทและกลุ่มไพรีทรอยด์

1) กลุ่มออร์กาโนคลอรีน (Organochlorines) เป็นกลุ่มที่ใช้มาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สองสารพิษสามารถตกค้างได้ดีในไขมันและมีพิษตกค้างนานจึงไม่เหมาะที่จะใช้กับศัตรูพืชอาหาร และส่วนมากได้ยกเลิกใช้ทางเกษตรไปแล้วหลายชนิด เช่น DDT และ Dieldein แต่ยังคงใช้ในด้านอื่นๆ เช่นใช้ DDT ในการกำจัดยุงและใช้ Dieldrin ในการกำจัดปลวก

พิษวิทยาของสารในกลุ่มนี้จะดูดซับได้ดีทางลำไส้และผิวหนัง เมื่อได้รับในปริมาณมาก พอจะเกิดผลกระทบต่อการทำงานทางระบบประสาท โดยเฉพาะสมองและส่วนที่ควบคุมระบบหายใจ

อาการพิษเฉียบพลัน คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง ปวดศีรษะ ตกใจง่าย ตกมัว ชาตามปลายมือและเท้า มือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก ชักหมดสติ

อาการพิษเรื้อรัง เบื่ออาหารและอ่อนเพลียและพิษเรื้อรัง น้ำหนักลด ตับเสื่อมสมรรถภาพ อ่อนแอติดเชื้อง่าย

2) กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (Organophosphates) สารกลุ่มนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกัน กำจัดดีมีพิษตกค้างไม่นาน ควรใช้อัตราตามคำแนะนำเพื่อป้องกันสารพิษตกค้าง

พิษวิทยาของสารในกลุ่มนี้จะเป็นพิษต่อแมลงและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ปริมาณของสารพิษ ที่เข้าไปในร่างกายจะทำปฏิกิริยากับเอนไซม์โคลินเนสเตอเรส (Cholinesterase) อย่างถาวร ทำให้เกิดการกระตุ้นเซลล์ประสาทกล้ามเนื้อกระตุกสั่นจนเกิดอาการแกว่ง แต่ถ้าหากอซิติลโคลีนเพิ่มมากขึ้นแล้วจะเกิดอาการกล้ามเนื้อเรียบอ่อนเพลียจนเป็นอัมพาต

อาการพิษเฉียบพลัน คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน แน่นหน้าอก มวนท้อง เหงื่อออก น้ำลายและน้ำตาไหล ม่านตาหรี่ กล้ามเนื้อกระตุก มึนงง กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ชัก หมดสติ เป็นอัมพาต หายใจขัดและหัวใจเต้นช้า หอบ

อาการพิษเรื้อรัง มีอาการทางระบบประสาทส่วนกลางและกล้ามเนื้อ

3) กลุ่มคาร์บาเมต (Carbamates) ใช้กันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะแมลงชนิดปากดูดและศัตรูพืชที่อยู่ในดิน เช่นไส้เดือนฝอยและหอยทาก สารกลุ่มนี้มีทั้งมีพิษร้ายแรงและปานกลางมีระยะเวลาในการตกค้างสั้น ถ้าใช้อย่างถูกต้องจะมีความปลอดภัยสูงต่อผู้บริโภค

พิษวิทยาของสารในกลุ่มนี้จะจะมีลักษณะคล้ายกับสารพิษในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต แต่ร่างกายของคนที่ได้รับสารพิษกลุ่มนี้จะกลับคืนเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วกว่าการเกิดพิษจากกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตเนื่องจากยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ดคลีนเอสเทอเรสแบบไม่ถาวร (Reversibie) อาการรุนแรงจึงน้อยกว่าและระยะเวลาน้อยกว่าจึงหายเองได้

อาการพิษเฉียบพลัน คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก เหงื่อออก ม่านตาหด กล้ามเนื้อสั่น กระตุก

4) กลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethroid) นิยมใช้กันมากในปัจจุบันเพราะมีการสลายตัวได้เร็ว มีพิษน้อยต่อคนและสัตว์เลือดอุ่น สามารถใช้ทดแทนสารเคมีในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บาเมตแต่จะมีระยะการดื้อยาได้เร็วและมีราคาแพงกว่าสารพิษในกลุ่มอื่นๆ พิษวิทยาของสารในกลุ่มนี้จะเป็นพิษต่อการทำงานของระบบประสาทของแมลง ทำให้แมลงสลบได้ทันทีและตายได้ในที่สุด แต่มีพิษน้อยต่อคนและสัตว์เลือดอุ่น

อาการพิษเฉียบพลัน ผิวหนังคน บวมแดง พุพอง ไอ จาม คัดจมูก แน่นหน้าอก หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ชาที่ริมฝีปาก กล้ามเนื้อกระตุก

เนื่องจากสารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชจะตกค้างในต้นพืช ดังนั้นหลังจากการพ่นสารกำจัดศัตรูพืชแล้ว ก่อนที่ผู้ผลิตจะทำการเก็บเกี่ยวจะต้องมีการทิ้งระยะเวลาเพื่อให้สารกำจัดศัตรูพืชสลายตัวเสียก่อน

No comments: